ระบบสมาชิก
ทดสอบเมนู
สถิติการเข้าชมเว็บไซต์
วันนี้ 16
เมื่อวานนี้ 6
เดือนนี้ 42
เดือนที่แล้ว 211
ปีนี้ 860
ปีที่แล้ว 1,991

ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)

ธงมาเลเซีย, ธงชาติมาเลเซีย

ความเป็นมาของธงชาติประเทศมาเลเซีย  (Malaysia)

สำหรับธงชาติประเทศมาเลเซียนั้น   ตามประวัติความเป็นมา ปรากฏว่ามีการปรับเปลี่ยนธงชาติจำนวน 3 ช่วงและ 3 รูปแบบด้วยกัน  ซึ่งเริ่มต้นจากธงชาติสหพันธ์รัฐมาลายา  ซึ่งเป็นธงชาติประเทศมาเลเซียรูปแบบแรกสุดของธงชาติประเทศมาเลเซียทั้งหมด  โดยมีการเริ่มใช้ธงชาติสหพันธ์รัฐมาลายาในช่วงปี พ.ศ. 2439   ลักษณะของธงชาติรูปแบบนี้จะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีแถบสีทั้งหมด 4 สีด้วยกันซึ่งมีขนาดเท่ากันหมด  เรียงจากบนลงล่างเริ่มจาก สีขาว สีแดง สีเหลือง และสีดำ  ส่วนตรงกลางของผืนธง จะมีรูปตราเสือเผ่นอยู่บนพื้นที่วงกลมสีขาว  แต่การชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสานั้น จำเป็นที่จะต้องชักธงชาติสหพันธ์รัฐมาลายาคู่กับธงชาติสหราชอาณาจักรด้วยทุกครั้งไป

หลังจากนั้นต่อมาในช่วงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ประเทศมาเลเซียก็ได้มีการเปลี่ยนจากธงชาติสหพันธ์รัฐมาเลเซีย  ให้มาเป็นธงริ้วแดงสลับขาว 11 แถบแทน โดยมีการชักธงริ้วแดงสลับขาว 11 แถบคู่กับธงชาติสหราชอาณาจักรที่หน้าพระราชวังสลังงอร์ (Istana Selangor) และได้มีการประกาศโดยการชัดขึ้นเพื่อเป็นธงชาติรัฐเอกราชครั้งแรกที่หน้า จัตุรัสเอกราชในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2500  สำหรับธงริ้วแดงสลับขาว 11 แถบนี้   เป็นธงชาติที่ประกอบไปด้วยพระจันทร์เสี้ยวและดาราแห่งสหพันธ์จำนวน 11 แฉกด้วยกันภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน  รูปแบบนี้เพื่อแทนและสื่อถึงรัฐทั้ง 11 รัฐในประเทศมาเลเซีย  ได้แก่  1.รัฐปะลิส  2.ไทรบุรี  3.เประ 4.กลันตัน   5.ตรังกานุ  6.ปะหัง 7.เนกรีเซมบิลัน  8.สลังงอร์ 9.ปีนัง  10.ยะโฮร์  และสุดท้ายคือ11.มะละกา

จนกระทั่งมาถึงในช่วงปี พ.ศ.2506 ประเทศมาเลเซียก็ได้มีการปรับเปลี่ยนและแก้ไขแบบธงชาติให้เป็นธงชาติที่ถูกใช้อยู่ในรูปแบบปัจจุบัน  ซึ่งมีชื่อว่ายาลูร์ เกลิมัง (Jalur Gemilang) หรือ “ธงริ้วแห่งเกียรติศักดิ์”  ถูกออกแบบโดยโมฮัมเม็ด ฮัมซาห์ โดยธงชาติแบบปัจจุบันจะสามารถสังเกตุเห็นได้อย่างชัดเจนว่า   มีการเพิ่มเติมแถบแดงสลับขาวเป็นจำนวน 14 แถบด้วยกัน  และมีการเพิ่มเติมรัศมีดาราแห่งสหพันธ์เพิ่มเป็น 14 แฉกเช่นกัน  เนื่องจากต้องการสื่อและแทนรัฐในสหพันธ์ทั้ง 14 รัฐในประเทศมาเลเซีย  เพราะประเทศมาเลเซียได้รับเอารัฐซาบาห์ รัฐซาราวัก และรัฐสิงคโปร์เข้าร่วมสหพันธ์ในภายหลังด้วย  แม้ว่าต่อมาประเทศสิงคโปร์จะมีการแยกตัวออกไป  เพื่อประกาศเป็นเอกราชในภายหลังในช่วงปี พ.ศ. 2508 แล้วก็ตาม  แต่ประเทศมาเลเซียก็ได้มีการเปลี่ยนความหมายของรัฐสิงคโปร์เป็นรัฐบาลกลางที่กรุงกัวลาลัมเปอร์แทน   ด้วยเหตุนี้จึงทำให้รูปแบบของธงชาติประเทศมาเลเซียก็ยังคงมีรูปรัศมีของดาราแห่งสหพันธ์ในจำนวนเท่าเดิม

 

ลักษณะและความหมายของธงชาติประเทศมาเลเซีย (Malaysia)

ลักษณะของธงชาติยาลูร์ เกลิมัง (Jalur Gemilang) หรือ “ธงริ้วแห่งเกียรติศักดิ์” ของประเทศมาเลเซียนั้น  จะเป็นธงชาติสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีขนาดกว้างประมาณ 1 ส่วน และยาว 2 ส่วนเท่านั้น  โดยธงชาตินี้จะมีพื้นธงเป็นสีแดงสลับกับพื้นสีขาวทั้งหมด 14 แถบ  แต่ละแถบสีจะมีความกว้างเท่ากันหมด  ส่วนตรงมุมธงชาติตรงด้านคันธงจะมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีน้ำเงินที่มีขนาดกว้าง 8 ใน 14 ส่วนของผืนธงด้านกว้าง   ส่วนความยาวจะยาวกึ่งหนึ่งของผืนธงในด้านยาว  ภายในพื้นผ้าสีน้ำเงินนี้จะมีเครื่องหมายพระจันทร์เสี้ยวและดาว 14 แฉกอยู่  ซึ่งมีชื่อว่า ดาราสหพันธ์  หรือ  บินตัง  เปอร์เซกูตัน (Bintang Persekutuan)ส่วนสัญลักษณ์และสีต่าง ๆ บนตัวธงชาติจะมีความหมายต่าง ๆ ที่สามารถแยกออกมาได้ดังนี้คะ

แถบริ้วพื้นสีแดงและพื้นสีขาว มีด้วยกัน 14 แถบ ซึ่งจะสื่อและให้ความหมายถึงสถานะอันเสมอภาคของรัฐทั้ง 13 รัฐภายในประเทศ และรัฐบาลกลางที่กรุงกัวลาลัมเปอร์
– ดาวที่มี 14 แฉก สื่อและให้ความหมายในเรื่องของความเป็นเอกภาพในหมู่รัฐทั้ง 14 รัฐภายในประเทศมาเลเซีย
รูปพระจันทร์เสี้ยว สื่อและให้ความหมายถึง ศาสนาประจำชาติของประเทศมาเลเซียอันได้แก่ ศาสนาอิสลาม
– สีเหลืองในพระจันทร์เสี้ยว พร้อมทั้งดาราสหพันธ์ ซึ่งสีเหลืองคือสีแห่งยังดี  เปอร์ตวน อากง ผู้เป็นประมุขแห่งสหพันธรัฐ
– พื้นสีน้ำเงิน สื่อและให้ความหมายในส่วนของ ความสามัคคีทั้งหมดของชาวมาเลเซีย

เกร็ดความรู้

การทักทาย
ประเทศมาเลเซียมีศาสนาประจำชาติคือศาสนาอิสลาม  ทำให้ในเรื่องของการจับมือทักทายสวัสดีนั้น  สตรีมุสลิมบางคนอาจจะเลือกที่จะทักทายด้วยการพยักหน้าให้เล็กน้อยและยิ้มให้เท่านั้น   หากสุภาพสตรีจะทักทายด้วยการจับมือ  นักท่องเที่ยวก็ควรที่จะให้สุภาพสตรีเป็นผู้เริ่มก่อนด้วยความสุภาพ   ส่วนหากเป็นการทักทายสวัสดีในรูปแบบดั้งเดิม คือรูปแบบซาลาม  ซึ่งเป็นการแตะมือด้วย 2 มือโดยไม่ได้จับมือของอีกฝ่าย  หากเป็นผู้ชายจะทำการทักทายด้วยลักษณะดั้งเดิม  ก็จะทำการยื่นมือทั้งสองข้างมาข้างหน้า  และทำการสัมผัสกับมือของอีกฝ่ายที่ยื่นออกมาให้ในลักษณะเดียวกัน  จากนั้นฝ่ายชายจะดึงมือทั้งสองข้างกลับมาแตะบริเวณหน้าอก  ซึ่งการกระทำแบบนี้จะหมายถึง   “เขาทักทายคุณด้วยใจ”  และที่สำคัญ  หากนักท่องเที่ยวได้รับการทักทายจากชาวมาเลเซียด้วยรูปแบบซาลามแล้ว  นักท่องเที่ยวก็ควรที่จะทักทายกลับในรูปแบบซาลามเหมือนกัน

สถานที่ประกอบพิธีต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซีย
สำหรับการเดินทางไปในสถานที่ประกอบพิธีต่าง ๆ ในประเทศมาเลเซีย  นักท่องเที่ยวจะต้องระมัดระวัง  หากจะเดินเข้าสถานที่ประกอบพิธี  นักท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องถอดรองเท้าออกก่อนเสมอ   และสำหรับสถานที่ประกอบพิธีบางแห่งในประเทศมาเลเซียอาจจะมีการจัดเตรียมเสื้อผ้าและผ้าคลุมต่าง ๆ ไว้ให้แก่นักท่องเที่ยวสตรีได้สวมใส่ด้วย

การรับ – ส่งของพร้อมทั้งการชี้นิ้ว
นักท่องเที่ยวควรระวังตนอยู่เสมอในระหว่างที่ท่องเที่ยวภายในประเทศมาเลเซีย  โดยเฉพาะในเรื่องของการรับ – ส่งของสิ่งต่าง ๆ พร้อมทั้งการชี้นิ้ว  เพราะตราบใดที่คุณยังอยู่ภายในประเทศมาเลเซียนั้น  คุณไม่ควรที่จะใช้นิ้วชี้มือขวา  ชี้สิ่งต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งคน  หากจะชี้สิ่งต่าง ๆ คุณควรใช้นิ้วโป้งมือขวาชี้เท่านั้น

ไม่ว่าจะทำสิ่งใดควรขออนุญาตก่อนเสมอ
การขออนุญาตก่อนเป็นสิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าคุณจะกระทำสิ่งใด ๆ ก็ตาม  และในประเทศมาเลเซียสิ่งนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะต้องระลึกถึงอยู่เสมอดังนี้  ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปเยี่ยมบ้านผู้อื่นในประเทศมาเลเซีย  นักท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องตะโกนแจ้งเจ้าบ้านนั้นก่อนเสมอ  และในส่วนของการถ่ายรูป  ไม่ว่าจะสถานที่ใด  ก็ควรที่จะขออนุญาตก่อนที่จะทำการถ่ายรูปในแต่ละครั้งด้วย